“แรงงานหุ่นยนต์” บุกเอเชีย “เกาหลีใต้” แชมป์ใช้ “โรบอต” แทนมนุษย์

อัปเดตล่าสุด 16 พ.ค. 2562
  • Share :

ปัจจุบันหลายอุตสาหกรรมทั่วโลกเริ่มหันมาใช้ “แรงงานหุ่นยนต์” อย่างจริงจังมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด สมาพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (IFR) ของเยอรมนี ได้เปิดผลสำรวจเรื่อง World Robotics Report 2018 ระบุว่า ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการพัฒนาและผลิตหุ่นยนต์เพื่อใช้สำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2013-2017) ปริมาณยอดจำหน่ายหุ่นยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงถึง 114%


รายงานระบุว่า ในปี 2018 ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกมีการใช้แรงงานหุ่นยนต์เฉลี่ย 85 ยูนิตต่อแรงงานมนุษย์ 10,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ราว 74 ยูนิต และมีแนวโน้มว่าภายในปี 2023 แรงงานหุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้มากขึ้นเฉลี่ย 150 ยูนิต ต่อแรงงานมนุษย์ 10,000 คน


ทั้งนี้ “เกาหลีใต้” เป็นแชมป์ประเทศที่มีการใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมสูงที่สุดในโลก โดยพบว่าในปี 2018 มีแรงงานหุ่นยนต์อยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 710 ยูนิต ต่อแรงงานคน 10,000 อัตรา เทียบกับปี 2017 ที่มีแรงงานหุ่นยนต์ประมาณ 631 ยูนิต สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึง 8 เท่า


ส่วนใหญ่แรงงานหุ่นยนต์จะใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญมากที่สุดของเกาหลีใต้ ขณะที่ยังต้องใช้จำนวนแรงงานคนค่อนข้างสูง ทั้งนี้ เกาหลีใต้เป็นชาติที่เผชิญปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรุนแรงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก


สำหรับอันดับ 2 คือ “สิงคโปร์” ที่น่าสนใจ คือ สิงคโปร์ได้บรรจุแรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างโดดเด่น จาก 488 ยูนิต ต่อแรงงานคน 10,000 รายในปี 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 658 ยูนิตในปี 2018 ขณะที่รายงานของ IFR ระบุว่า ราว 90% ของหุ่นยนต์ในสิงคโปร์ ถูกติดตั้งขึ้นเพื่อใช้งานในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์


อันดับที่ 3 ได้แก่ “เยอรมนี” เจ้าแห่งผู้ผลิตรถยนต์ของยุโรป โดยแรงงานหุ่นยนต์ถูกนำมาใช้มากที่สุดในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ และปี 2018 พบว่ามีแรงงานหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 322 ยูนิต ต่อแรงงานคน 10,000 คน เทียบกับปีก่อนหน้านั้นที่มี 309 ยูนิต


“ญี่ปุ่น” อีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลก และก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์เกินกว่า 5 ปีแล้ว ความพยายามรักษาตำแหน่งเจ้าแห่งผู้ผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลก ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการนำแรงงานหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมเป็นอันดับ 4 ของโลก หรือ 308 ยูนิต ต่อแรงงานมนุษย์ 10,000 คน เทียบกับปี 2017 อยู่ที่ 303 ยูนิต โดยนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์มากที่สุด 70% ของแรงงานหุ่นยนต์ทั้งหมด


สำหรับ “จีน” แม้ว่าในปี 2018 จะอยู่ที่อันดับ 14 ที่มีการใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมเพียง 97 ยูนิตต่อแรงงานคน 10,000 อัตรา แต่เป็นประเทศที่มีการเติบโตของจำนวนแรงงานหุ่นยนต์เร็วที่สุดในโลก จาก 25 ยูนิตในปี 2013 ขยับขึ้นเป็น 68 ยูนิตในปี 2016


ทั้งนี้ จีนได้ประกาศวิสัยทัศน์เมื่อปลายปี 2018 ว่า ภายในปี 2020 จีนจะขยับขึ้นมาติด “ท็อป 10” ประเทศที่ใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม และก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ภายในปี 2030


“เนลล์ แม็คคาร์ธีย์” นักวิเคราะห์ข้อมูลของบริษัทวิจัย Statista และนักวิเคราะห์อิสระของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) กล่าวว่า ประเทศในเอเชียถือว่ามีความโดดเด่นมากที่สุด ในการใช้แรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม เช่น กรณี “เกาหลีใต้” ที่ครองอันดับหนึ่ง 4 ปีต่อเนื่อง นับตั้งแต่ที่ประเทศประสบปัญหาด้านแรงงานวัยหนุ่มสาว และรัฐบาลโซลปรับเพิ่มงบประมาณด้านการพัฒนาวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทุกปี โดยในปี 2018 งบประมาณสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยีอยู่ที่ 35% ของงบประมาณพัฒนาประเทศทั้งหมด


ขณะที่รัฐบาลสิงคโปร์ ตั้งเป้าพัฒนาประเทศเป็น “สมาร์ทซิตี้” ภายในปี 2020 โดยการเพิ่มสัดส่วนแรงงานหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรมที่สำคัญ เป็นหนึ่งในนโยบายแห่งชาติของรัฐบาล ทั้งเคยประกาศว่า พยายามบรรลุเป้าหมายเป็นชาติอันดับหนึ่งที่ใช้แรงงานหุ่นยนต์สูงสุดในโลก


“หลายประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะชาติที่ขาดแคลนแรงงานเพราะประสบปัญหาผู้สูงอายุ มักจะมีความหนาแน่นของแรงงานหุ่นยนต์ที่กระจายในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งวิกฤตด้านแรงงานเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการทดแทนขึ้น” แม็คคาร์ธีย์กล่าว


อย่างไรก็ตาม จีนไม่ใช่ประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน หรือเผชิญภาวะการเกิดต่ำ แต่รัฐบาลมีเป้าหมายเป็นเจ้าแห่งเทคโนโลยีของโลก โดยตั้งเป้าผลิตหุ่นยนต์ภายใต้แบรนด์จีน จำนวน 100,000 ยูนิต เพื่อเพิ่มการส่งออกไปทั่วโลก ในปี 2017 ยอดขายหุ่นยนต์มาจากจีน 36% ของอุปทานทั่วโลก ขณะที่ญี่ปุ่นเป็นผู้เล่นในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ที่น่าสนใจ โดยในปีเดียวกันมีหุ่นยนต์ที่ส่งออกมาจากญี่ปุ่นมากถึง 56%